วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2551

เรื่องควรรู้ก่อนลง/อัพเกรดเป็น Hardy Heron

เมื่อวาน Ubuntu 8.04 Hardy Heron ออกอย่างเป็นทางการช่วงเย็น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งอันที่จริง ผมก็ได้เอามาติดตั้งใช้งานจริง ตั้งแต่ออกเบต้าแล้ว และอัพเกรดมาเรื่อย ๆ

มีสิ่งที่คาดหวังไว้จำนวนหนึ่งกับ Hardy แต่ยังพบว่ายังไม่พร้อม อันเนื่องจาก Ubuntu กำหนดการออกรุ่นไว้ตามเวลาเป๊ะ ๆ ต่างจาก Debian ที่ออกเมื่อพร้อม จึงเป็นเรื่องปกติที่ Ubuntu รุ่น release อาจจะไม่ได้ทำงานได้ตามที่คาดหวังเสมอไป จึงขอเอาประสบการณ์ที่พบมาเล่าให้ฟัง
  1. Firefox รุ่นนี้ตั้งธงว่าจะใช้ Firefox 3.0 แต่ก็มีความล่าช้าที่โครงการ Mozilla เองซึ่งในที่สุดแล้วก็เสร็จไม่ทันแน่แล้ว ล่าสุด Firefox 3.0 กำหนดออกประมาณ มิ.ย. 51 ใน Hardy ตั้งใจจะใส่รุ่น 3.0pre แต่ก็ไม่ทัน ดังนั้นรุ่นที่ติดตั้งไปพร้อม Hardy คือ 3.0b5 ซึ่ง บอกตามตรงว่ายังไม่เสถียรพอ ใช้งานปกติ ยังมี crash ให้เห็นเป็นพัก ๆ วันละ 3-5 ครั้ง บางวันต้องถอยไปใช้ firefox-2 แทน แต่ก็อึดอัดกับข้อจำกัดบางอย่าง
    ทางออกทาง Hardy จะอัพเกรด Firefox ให้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็น 3.0 ตัวเต็ม และอัพเกรด minor release ไปเรื่อย ๆ แต่นั่นก็ใช้เวลา อย่างเร็วก็รอรุ่น 3.0pre ซึ่งคงดีกว่านี้พอสมควร แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้ติดตั้ง firefox-2 ใช้งานไปก่อนได้ ซึ่งเสถียรดีมาก ๆ
  2. Network Manager 0.6.6 ผมเจอปัญหาอันหนึ่งคือ ถ้าต่อเน็ตด้วย ppp ผ่านโทรศัพท์มือถือที่มี EDGE ไม่ว่าจะหมุนเองด้วยคำสั่ง pppd หรือผ่าน network manager applet สถานะของ network จะยังแสดงเป็น offline อยู่ ซึ่งคุณสมบัติหนึ่งของ network manager คือมันใช้ dbus ในการสื่อสารกับโปรแกรมอื่น ๆ ได้ ปัญหาคือ Firefox 3.0 ดันฉลาดเกิน ขอเช็คสถานะเน็ตเวิร์คกับ network manager ผ่านทาง dbus ทุกครั้งที่เปิดโปรแกรม ถ้าเน็ตเวิร์คไม่พร้อม มันจะปรับไปโหมด offline ให้อัตโนมัติ ทีนี้พอใช้ ppp ต่อเน็ต ก็ต้องคอยยกเลิก offline ทุกครั้งไป
    ปัญหานี้ Firefox ไม่รับว่าเป็นบั๊ก แต่โยนไปที่ network manager แทน ซึ่งการขยายขอบเขตการจัดการเน็ตเวิร์คไปถึง ppp นั้น จะอยู่ในแผนของรุ่น 0.7 ซึ่งก็ออกล่าช้าเช่นกัน คนพัฒนาอยู่ Red Hat ซึ่งจะออกมาให้ใช้ทัน Fedora 9 แต่กลับไม่ทันใช้ใน Hardy
    ทางออก มีวิธีเลี่ยงปัญหา โดยยกเลิกการ roaming การใช้ Lan แบบสาย แล้วตั้งให้ใช้ Lan แบบ manual ด้วย dhcp จะทำให้ network manager ไม่มีสถานะ offline อีกต่อไป (ผมใช้วิธีนี้อยู่) ส่วน network manager 0.7 จะไม่ถูกอัพเดทใน Hardy แต่คนดูแลแพกเกจรับรองว่า เมื่อรุ่น 0.7 ออก จะเตรียมไว้ให้ใช้ใน backports
  3. F-Spot ถูกใช้เป็นโปรแกรมหลักสำหรับจัดการรูปภาพในเครื่อง f-spot มีคุณสมบัติเด่น ๆ เรื่องการอัพโหลดรูปภาพไปยังบริการเก็บภาพบนอินเทอร์เน็ตหลายตัวเช่น flickr, picasaweb, gallery และอื่น ๆ อีก จำไม่ได้ละ ในด้านการใช้งานนั้น ดูจงใจให้เหมือน iPhotos ของ Mac ซึ่งก็ทำได้ดีทีเดียว แต่ปัญหาคือยังขาดคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เคยมีใน gthumb ที่เป็นตัวหลักใน Ubuntu รุ่นก่อน ๆ เช่นการบราวซ์ดูภาพในโฟลเดอร์ที่ยังดูอืด ๆ แถมมันไม่เรียงลำดับมาให้ และเลือกให้เรียงไม่ได้ด้วย ทำให้เกือบจะไร้ประโยชน์ไปเลยทีเดียว ไม่มีการ prefetch ภาพต่อไปไว้ล่วงหน้า ทำให้ตอนดูภาพต่อไปต้องรอมันประมวลผลสักแป๊บนึงก่อน
    ทางออก ติดตั้งโปรแกรมตัวเก่งอย่าง gthumb หรือ gqview เถอะครับ สำหรับคนที่ชอบจัดภาพไว้ใน directory ด้วยตัวเองอย่างผม แล้วจะพบว่ามันสะดวกขึ้นเยอะเลย โดยส่วนตัวชอบ gqview มากกว่า เพราะเล็กและเร็วดี

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น