วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549

Thai Keyboard Layout บนแลปท็อป $100

thai-keyboard.png

ภาพจาก http://wiki.laptop.org/go/Image:Thai-keyboard.jpg

ภาพ layout ของแป้นพิมพ์ภาษาไทย ของแลปท็อป $100 วาง layout ตามมาตรฐาน มอก.802.2538 ซึ่งทำให้สามารถพิมพ์อักษรพิเศษได้ เช่น ๏ ๛ อ๎ ส่วนตัว ฿ ๅ ฅ ฃ ย้ายสลับที่กันเล็กน้อย ที่เหลือก็เรียงแป้นตาม มอก.802.2533 หรือ เกษมณี ตามปกติ ถ้าแลปท็อปนี้ถูกผลิตเพื่อใช้ในประเทศไทย ก็คงเป็นคอมพิวเตอร์ล็อตแรก ที่มีแป้นพิมพ์มาตรฐานใหม่ หลังจากออกมาตรฐานมาแล้วกว่า 11 ปี

ดูโดยภาพรวมของแป้นพิมพ์มีหลายส่วนที่แตกต่างไปจากแป้นปกติ ได้แก่ แป้น Cap Lock ไม่มี (เพราะไม่มีใครใช้อยู่แล้ว จริงไหม) แป้น Ctrl ย้ายไปไว้แทนแป้น Cap Lock เดิม (ปุ่มซ้ายมือของแป้น A) แป้น Windows กลายเป็นรูปมือ ถูกกำหนดเอาไว้ใช้เลื่อนเอกสาร หรือหน้าเว็บ หรือรูปภาพที่ล้นหน้าจอ แป้นสลับภาษาถูกเพิ่มเข้ามา อยู่ใต้แป้น Enter ซึ่งจนเดี๋ยวนี้ยังไม่ทราบว่าถูกกำหนด scan code เป็นอะไร แล้วจะสลับภาษาบน X อย่างไร แป้น Enter ใหญ่หน่อย กดง่าย แป้นแถวบนสุด แสดงด้วยรูปภาพแทนฟังก์ชัน ซึ่งที่จริงก็คือ ESC, F1, F2, ... F12 และปุ่มพิเศษที่เพิ่มเข้ามา แป้น F แต่ละชุด สามารถ slide ได้ เพราะมีปุ่มย่อยๆ แทรกอยู่ระหว่างปุ่มปกติ ซึ่งจะถูกกำหนดหน้าที่เฉพาะบนซอฟต์แวร์อีกที มีหลายแป้นหายไป เนื่องจากเกินความจำเป็นในการใช้แลปท็อปตัวนี้ เช่น Ins (ปกติใช้กันไหมครับ? ผมไม่เคยแตะเลย) Del กับ Back space ถูกรวมกันเป็นแป้น Erase เข้าใจว่ากดปกติจะเป็น back space แต่กด combo กับบางแป้น (อาจจะเป็น Fn) ก็จะเป็น Del แป้น Break, PrtScrn, Num lock, Scroll Lock พวกนี้ไม่ได้ใช้เลย ตัดทิ้งหมด

ฟอนต์ที่ใช้ screen ลงบนแป้น เลือกฟอนต์ Garuda เนื่องจากมีความชัดเจนของรูปอักษรแต่ละตัว และมีความสวยงาม อ่านง่าย ตัววรรณยุกต์ก็ขยายขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้เห็นชัด

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น