วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2549

ดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ... และ 11, 12

คงจะเคยได้ยินข่าวลือเรื่องดาวเคราะห์เอ๊กซ์หรือดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ของระบบสุริยจักรวาลกันนะครับ ตามข่าวเดิม คาดกันว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 10 มีขนาดใหญ่ อยู่ไกลจากวงโคจรของดาวพลูโตมาก และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นพันปี และต่อมาก็มีการพบจริงๆ แต่ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คาดกันไว้ และมีวงโคจรที่ประหลาดเอามากๆ จนหลายคนไม่ยอมรับว่ามันเป็นดาวเคราะห์ ดาวดวงนี้เรียกชื่อเล่นว่า Xena และยังมีประเด็นอีกว่าพลูโต ก็อาจจะไม่ควรนับเป็นดาวเคราะห์ ด้วยความที่มีขนาดเล็กเกินไป เล็กจนมีขนาดโตกว่าดวงจันทร์ของมันที่ชื่อ Charon นิดเดียว แถมมีวงโคจรเอียงกว่าชาวบ้านเล็กน้อย บิดเบี้ยวจนบางครั้งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าเนปจูนเสียอีก สุริยจักรวาลเกือบเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวงแล้วจนกระทั่งมีร่างนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ของ International Astronomical Union (IAU) ทำให้เทหวัตถุ 3 ชิ้นขึ้นแท่นเตรียมเป็นดาวเคราะห์ได้ในทันที

นิยามที่ว่าคือ 1.ดาวเคราะห์ต้องมีมวลมากพอที่จะทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงในตัวเอง ซึ่งทำให้กลายเป็นวัตถุแข็งรูปทรงค่อนข้างสมมาตรคล้ายทรงกลม และ 2. ต้องโคจรรอบดาวฤกษ์ โดยที่ตัวมันเองต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์ และไม่เป็น satellite (วัตถุที่โคจรรอบวัตถุอื่น) ของดาวเคราะห์

ดาวเคราะห์ที่ถูกนับเพิ่ม ได้แก่ Ceres ซึ่งเดิมนับเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่, Xena และ Charon โดยในกรณีของ Charon ที่เดิมนับเป็นดวงจันทร์ ก็ถูกนิยามใหม่เป็นดาวเคราะห์คู่ ร่วมกับพลูโต โดยดาวเคราะห์คู่ก็มีนิยามว่า เป็นการโคจรรอบกันและกัน โดยมีจุดศูนย์ถ่วงร่วม อยู่ในอวกาศ มิใช่อยู่ใต้พื้นผิวดาวดวงใดดวงหนึ่ง ถ้าเทียบกับดวงจันทร์ของโลกเรา แม้จะมีขนาดใหญ่จนมีแรงดึงดูดถึง 1 ใน 6 ของโลก มีรูปร่างค่อนข้างกลม แต่การโคจรนั้นไม่นับเป็นดาวเคราะห์คู่ เพราะจุดศูนย์ถ่วงร่วมอยู่ใต้พื้นผิวของโลกครับ นั่นคือดวงจันทร์นับเป็น satellite ของโลก

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีวัตถุอีก 12 ชิ้นที่เข้าคิวรอตรวจสอบว่าจะนับเป็นดาวเคราะห์ตาม "ร่าง" นิยามใหม่นี้หรือไม่

หากนิยามนี้ได้รับการประการอย่างเป็นทางการ ก็ต้องแก้ไขตำรากันทั่วโลกเลยละครับ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น