วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547

Folding@Home, Unreal Tournament 2004 และ Wikipedia

เงียบไปนานๆ เลยเข้ามาอัพเดทเสียหน่อยว่าทำอะไรอยู่บ้าง นานๆ อัพเดททีสงสัยต้องออกเป็น Weekly Newsletter แทนละมัง :-)

เรื่องแรกคือ ผมรัน SETI@Home อยู่ ตอนนี้ก็ได้ 12xxx unit แล้วละ เข้าไปดูได้ที่
http://setiathome.berkeley.edu/stats/country_1068.html
แต่จะเริ่มลดแล้ว เพื่อไปรัน Folding@Home แทน เป็นการหาโครงสร้างโปรตีนอะไรประมาณนี้แหละ ผมก็ไม่ได้อ่านละเอียด รู้แต่ พี่เทพก็รันไปแล้ว ส่วนของผมก็ที่นี่ครับ

เหตุผลที่รันก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่รู้สึกว่า มันน่าจะให้ประโยชน์มากที่สุด (จริงๆ แล้ว ผมไม่เชื่อว่า SETI จะพบ Aliens แค่รัน SETI@home เพราะอยากให้คอมฯที่ใช้อยู่ มันมีอะไรทำฆ่าเวลาซีพียูบ้าง) ที่จริงก็รู้จัก Folding@Home นานแล้วแหละ เพียงแต่ก่อนนี้ สนใจที่จะแข่งขันรัน SETI@Home มากกว่า คืออยากให้ประเทศไทยรันกันเยอะๆ จะได้แซงประเทศอื่นๆ ขึ้นไปบ้าง (แสดงว่าการที่ SETI@Home แสดงสถิติที่หลากหลาย และละเอียด ก็ทำให้มีผลต่อความรู้สึกอยากแข่งขันของคนได้) ทีนี้ที่หันมาเริ่มรัน Folding@Home ก็มีหลายๆ เหตุด้วยกัน อย่างนึงคือพี่เทพก็เริ่มรันแล้ว (มีเพื่อน) อีกเหตุคือ เห็นหน้าที่แสดงตำแหน่งคนในโลกที่รัน Folding@Home แล้วอยากช่วยเสริมความเข้มของประเทศไทยบ้าง (ดูเหมือนตอนนี้จะเปลี่ยนสีจากจุดเขียว เป็นจุดเหลืองแล้ว เย)แต่ตอนนี้รันได้เฉพาะบน Linux, Windows และ Mac OS X เท่านั้น บน FreeBSD ก็เลยรัน SETI@home ต่อ

ผลคือ การทำ unit หินขึ้นกว่าเดิม รันมาตั้งนาน พึ่งได้ 5 unit เอง แถมไม่ได้รันแบบเดียวด้วย ผมเจอแบบนึง 3 วันยังไม่ได้ unit เลย (รันเฉพาะเวลาเปิดเครื่องครับ เดี๋ยวนี้ปิดเครื่องหลังเลิกงาน เช้าค่อยเปิด) แต่ยังไงก็จะพยายามต่อไป และขอเชิญชวน เพื่อนๆ ที่เห็นว่าซีพียูของตนที่เปิดทิ้งไว้ มันว่างงานมาก ก็ให้มันคำนวณอะไรฆ่าเวลาซีพียูเล่น รับรองว่าไม่ทำให้งานอื่นช้าลงจนสังเกตได้ (ผมรันไป เล่นเกม UT2004 ไปสบายๆ (แก้ไขเพิ่มเติม: เล่นที่บ้านนะครับ))

เรื่องที่สอง ได้ดาวน์โหลด Unreal Tournament 2004 มาเล่นที่บ้านครับ กะว่าจะทดสอบการ์ด GeForce FX 5200 ตัวใหม่ เล่นคนเดียวครับ ไม่ได้ online แต่ยอมรับเลยว่าทำได้ดีมากๆ เคยพยายามลองเล่น UT2003 มั๊ง แต่ตอนนั้นเครื่องยังไม่ค่อยแรง ไม่สนุกเลย แต่พอเจอเครื่อง ICT 2 + GeForce FX 5200 แล้วแจ๋วเลยครับ ชอบเล่นที่เป็นแบบทีม (เล่นกับบ็อต) 2 ฝ่าย ยกพวกยึดพื้นที่ และตีรุกเข้าไปจนทำลายศูนย์พลังงานของฝ่ายตรงข้ามได้ รุ่น Demo มีอยู่ map เดียว เล่นจนจำพื้นที่ได้หมดแล้ว อีกแบบที่สนุกเหมือนกัน แต่นานๆ เล่นทีคือ Deathmath ประมาณ Quake 3 น่ะครับ ไล่ยิงกัน ตัวใครตัวมัน สนุกอย่างนี้ สงสัยต้องได้หาแผ่นเต็มมาเล่นละมัง ไม่รู้จะมีแผ่นสำหรับลินุกซ์ขายหรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้เล่นทุกวันหรอกครับ เล่นเฉพาะวันอาทิตย์เย็นๆ แต่ก็เล่นนาน (แหะๆ) 3-6 ชั่วโมงได้ เล่นหลายวันไม่ไหว เสียงานหมด เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

จุดเด่นก็คงจะเป็นภาพที่ทำได้สวยงาม มีเกมให้เล่นหลายแบบ บ็อตสามารถตั้งได้หลายระดับ (ถึงว่า เล่นครั้งแรกๆ รู้สึกว่าบ็อตไม่เก่งเลย ที่แท้ตั้งไว้ระดับต่ำสุด) เนื้อเรื่องก็ทำให้เล่นได้มันดี ตั้งระดับบ็อตที่เหมาะสมก็ลุ้นมันดี ผลัดกันแพ้ชนะหลายครั้ง

เรื่องสุดท้าย ได้ลองเอา Wikipedia มาลองเล่นดูครับ ตัวแพกเกจจะชื่อ mediawiki ตอนแรกเอารุ่น 1.2.6 มาลอง โดยเอามาติดตั้งบน server ที่มีอยู่ ความรู้สึกแรกคือ ลงง่ายมากครับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการที่ทำเป็นเว็บ และมี source ให้ดาวน์โหลดอย่างนี้ (เช่น sourceforge.net) เข้าใจว่าส่วนใหญ่เค้า edit กันบนระบบจริงๆ เลย จึงไม่ค่อยได้เผื่อคนอื่น ที่จะเอาไปเซ็ตอัพเซิร์ฟเวอร์ใหม่เท่าไหร่ อย่าง sourceforge นี่ยากสุดยอดเลย เคยพยายามแล้วงงมาก เอกสารก็ไม่ค่อยมีด้วย แต่สำหรับ mediawiki แล้วง่ายมาก มีการคอนฟิกครั้งแรกผ่านเว็บด้วย สะดวกมาก แต่เห็นบอก ให้ระวังตอนเปลี่ยนรุ่น บางครั้งต้องอัปเดทด้วยมือ (ก็เห็นเป็นอย่างนี้ทุกอันแหละ พวกที่เกี่ยวกับ database เช่นเว็บเบสแอพลิเคชันพวกนี้)

จุดเด่นของ mediawiki

  • สนับสนุนระบบหลายภาษา เพราะเก็บข้อมูลและแสดงเป็น UTF-8 ทั้งหมด มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ด้วย รวมทั้งภาษาไทย ตั้งชื่อหน้าเป็นภาษาอะไรก็ได้
  • สนับสนุนการอัปโหลดรูปภาพ และไฟล์มีเดียอื่นๆ ไปเก็บที่เซิร์ฟเวอร์ และใช้อ้างอิงได้จากหน้าวิกิ
  • คงเอกลักษณ์ของวิกิคือการแก้ไขที่ง่าย คือดูเอกสารที่เป็น text ที่กำลังแก้ไข ก็เห็นคล้ายๆ กับที่จะแสดง แต่ค่อนข้างจะเป็นวิกิยุคใหม่ เห็นได้จากที่ใช้ == หัวข้อ == และ [[ลิงก์]] เป็นต้น
  • ในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นมากกว่า สามารถสร้างหน้าวิกิได้ซับซ้อนมากขึ้น เช่นตาราง สามารถกำหนด options แบบเดียวกับใน HTML ได้เลย รวมทั้งการกำหนด style (css) ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ tag HTML (ส่วนหนึ่ง แต่ก็พอเพียง) ได้ด้วย
  • มีระบบ login และสามารถล็อกบางเพจได้ ซึ่งจะแก้ไขได้เฉพาะผู้ที่เป็น admin


อย่างไรก็ตาม พอลองใช้ไปสักพัก ก็พบปัญหาหลายๆ อย่าง ก็ไปเปรียบเทียบกับ Wikipedia พบว่าไม่เหมือนกัน wikipedia หรูหรา และมีฟีเจอร์เยอะกว่ามาก โดยเฉพาะ skin ชื่อ monobook ซึ่ง mediawiki 1.2.6 ไม่มี เลยเช็คดูพบว่า mediawiki 1.2.6 มันเป็น wikipedia phase2 ส่วน 1.3.0 ที่กำลังจะออก จะเป็น phase3 ซึ่งเป็นตัวปัจจุบันที่ wikipedia ใช้อยู่ เลย checkout phase3 จาก cvs มาลองดู พบว่า เป็น 1.3.0 beta1 แต่ก็ใช้ได้ดีมาก เลยเอามาลองเล่น ลองหันเขียนหน้าวิกิแบบใหม่ต่อ โดยพยายามศึกษาจากซอร์สของหน้าวิกิที่ wikipedia เองด้วย

จนวันจันทร์ที่ 7 ที่ผ่านมา จึงพบว่าออกรุ่น 1.3.0 beta2 แล้ว ก็อัพเกรดอีกรอบ และใช้จนปัจจุบัน

นอกจากนี้ก็ได้เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกใน วิกิพีเดียภาษาไทย และกำลังเริ่มแปลวิธีการแก้ไขหน้าอยู่ครับ ใครสนใจ เชิญได้เลยนะครับ ส่วนจะเข้าไปเขียนยังไงนั้น เดี๋ยวรอผม กับพี่ปลา (กับคนอื่นๆ ด้วย) แปลวิธีการแก้ไขหน้าวิกิเสร็จแล้ว จะชวนเข้าไปอ่านและลองทำดูครับ ไม่ยากเลยครับ

4 ความคิดเห็น :

  1. สวัสดีครับ ดีใจมากครับที่จะได้มาช่วยกันสร้างวิกิพีเดียภาษาไทย อยากเห็นหัวข้อภาษาไทยถึง ๑๐,๐๐๐ หัวข้อเร็ว ๆ เหมือนกันครับ :)

    ตอบลบ
  2. :-) ผมคงเข้าไปช่วยในเรื่อง infrastructure ก่อนครับ (เป็นพวกชอบใช้แรงงาน) ส่วนเนื้อหา คงต้องหาคนเชี่ยวชาญมาเขียน/แปล อีกที คิดว่าถ้า infrastructure พร้อม ก็น่าจะชวนคนได้ง่าย

    อ่อ แก้ blog นี้นิดหน่อย เพราะดันติดสไตล์การเขียนแบบ wiki เข้า ลืมวิธีเขียน blog ไปเลย

    ตอบลบ
  3. เหอๆ ว่าจะ blog เรื่องน้องฟ้า (Folding@Home) อยู่เหมือนกัน ผมเจอ job แรกก็หินเลย ต้องรันทั้งหมด 400 frame ปัญหาของน้องฟ้าคือ ถ้าฮาร์ดดิสก์เต็ม เธอจะงอน เลิกทำไปเลย ต้องเริ่มใหม่ บังเอิญช่วงนั้นผมคอมไพล์โปรแกรมบ่อย ฮาร์ดดิสก์เต็มบ่อยด้วย ต้องเริ่มใหม่อยู่ 4 รอบ จน overdue แล้วก็เลยกลับมาหา seti อีก ก่อนจะกลับมาฮึดกับน้องฟ้าใหม่อีกรอบ (ซวยไป เจองานหินแต่แรก เลยนึกว่ามันจะหินตลอด)

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ7/11/47 12:01

    ไม่ลองรัน BOINC แทนล่ะครับ
    BOINC เป็น platform ใหม่ซึ่งสนับสนุน distributed computing หลายๆโครงการ ในโปรแกรมเดียว
    โดยโปรแกรมจะจัดสรรให้ว่าจะรันโครงการใดเมื่อไร พัฒนาโดยทีมงานจาก seti@home ที่ Berkeley

    ขณะนี้โครงการที่เข้าร่วมกับ BOINC แล้ว ได้แก่
    SETI@home
    Climate Prediction จำลองสภาพภูมิอากาศของโลกในทศวรรษหน้า
    Predictor@home วิเคราะห์โครงสร้างโปรตีน
    LHC@home Large Hadron Collider จำลองการชนกันของอนุภาคในเครื่อง LHC (เครื่องเหมือนในหนัง T3 หรือหนังสือ เทวากับซาตาน - Demons&Angels)
    Einstein@home วิเคราะห์คลื่นจากอวกาศที่วัดได้ด้วยเครื่อง LIGO ศึกษากำเนิดของเอกภพ

    โครงการอื่นๆที่มีแผนการในอนาคต เช่น
    Folding@home
    Gnome@home
    Nano@home

    ลองดูที่ http://groups.yahoo.com/group/thaiboinc

    ตอบลบ