วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550

Upgrade to wordpress 2.1

พึ่งอัพเกรด wordpress มาเป็นรุ่น 2.0.7 ได้อาทิตย์เดียว wordpress 2.1 ก็ออกมาแล้ว ที่จริงออกมาได้ 2 วันแล้วละ แต่ขี้เกียจอัพเกรดเอง รอให้ dreamhost ทำตัวอัพเกรดให้ เพราะใช้ตัวจัดการซอฟต์แวร์ของเค้าอยู่แล้ว ง่ายดี

อัพเกรดแล้วหน้าตายังเหมือนเดิม เพราะใช้ theme เดิม แต่ภายในก็มีอะไรๆ เพิ่มขึ้น ที่เห็นๆ ตอนนี้คือ ตอนเขียนบล็อก มันจะบันทึกให้อัตโนมัติเป็นระยะๆ อันอื่นๆ มีอีกเยอะ ดูเพิ่มเติมที่ Developer Blog

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2550

blogger for your domain

google ทำอะไรที่เป็น "for your domain" ออกมาค่อนข้างเยอะ เมื่อวานพึ่งรู้ว่า blogger ใหม่ สามารถตั้งให้ใช้ domain ของเราได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้จำได้ง่ายดี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย

ปกติการเขียน blog ที่ blogger.com เราจะได้ url ที่เป็น http://yourname.blogspot.com/ เสมอ ยกเว้น ให้มันใช้ ftp account หรือ sftp เพื่อโอนไฟล์ไปอัพเดทที่ host อื่น (เช่นก่อนนี้ผมเคยใช้ฟรีโฮสติ้งของ se-ed.net ก็สามารถให้ blogger สร้างบล็อกที่ http://se-ed.net/kamthorn/ ได้) แต่ในรุ่นใหม่นี้ เรามีทางเลือกอื่นคือ ใช้ domain ของเราเองได้ด้วย

วิธีทำง่ายๆ คือ สมมติเรามี domain morninggarden.com อยู่แล้ว ต้องการให้บล็อกเป็น url http://blog.morninggarden.com/ เราก็ไปเพิ่ม record ใน dns ของเรา ให้ชื่อ blog ชี้ไปที่ CNAME ghs.google.com วิธีการก็คงแตกต่างไป แล้วแต่ว่าเราจดโดเมนกับใคร หรือใช้ dns server ของใคร

จากนั้นก็ไปกำหนดใน blogger.com โดยเลือก setting ที่บล็อกที่ต้องการแก้ไข เลือก publishing เลือก your domain ป้อนชื่อ blog.morninggarden.com ลงไป กดปุ่ม save setting ถ้าเดิมเราใช้ blogspot อยู่ เช่น http://morninggarden.blogspot.com/ เวลามีคนเข้าที่ url เดิม มันจะ redirect มาที่ใหม่ให้เอง

เท่านี้ก็เรียบร้อย เสียเงินจดโดเมนอย่างเดียว (ปีละประมาณ 300 บาท หรืออาจจะหาได้ถูกกว่านี้) ก็เอามาใช้งานได้เยอะแยะแล้วครับ (อ่าน ตอนเก่า) สรุปถึงตอนนี้คือ ด้วยโดเมนอย่างเดียว เราสามารถมี E-Mail, Web Site, Calendar, Jabber และ Blog ได้ทันที ง่ายๆ และคุณภาพดีตามแบบ google อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2550

อบรมวาดภาพทางพฤกษศาสตร์

พี่ปลาไปลงทะเบียนอบรมวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ระดับพื้นฐานไว้ ไปเรียนมาแล้ว 1 วัน เมื่อเสาร์ที่แล้ว แต่เสาร์นี้มีอันติดธุระ ไปเรียนไม่ได้ เราเลยขอไปเรียนแทน เพราะตอนมัธยมเคยเรียนศิลป์มาบ้าง แม้จะไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ก็เหอะ ถือโอกาสลับฝีมือ เพราะไม่ได้จับดินสอวาดภาพ และพู่กันมานานมากแล้ว

คลาสนี้สอนโดย อ.พูลทรัพย์ เจตลีลา และคณะ ซึ่งมีประสบการณ์ในการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างดี มีคนนึงเราคุ้นๆ ว่าเคยแข่งแฟนพันธุ์แท้ดอกไม้ ถามดูปรากฏว่าใช่จริงๆ ด้วย :-D

ผลงานที่ได้ ก็อย่างที่เห็น ดูไกลๆ พอไหว :-D เทียบกับภาพถ่ายเองแล้วกันครับ

ภาพถ่าย 1

ภาพวาด 1

ภาพแรกวาดด้วยเทคนิคแรเงาเพื่อหัดวาดรูปทรงกับแสงเงา อันนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเคยหัด sketch และแรเงามาก่อน (ตอนม.2 - -'') กระนั้นก็ต้องวาดใหม่ 3-4 ทีกว่าจะได้อย่างนี้
ภาพถ่าย 2

ภาพวาด 2

อันนี้ยากหน่อย เพราะใช้สีน้ำวาด ซึ่งไม่เคยฝึกเลย ที่ยากอีกอย่างคือ ต้องผสมสีน้ำให้ได้สีตรงกับของจริงที่สุด วาดได้ภาพเดียว แต่ก็พอจะจับทางได้ละ

เป็นไงครับ พอเอาไปหากินได้ไหม อาทิตย์หน้าไปเรียนอีก เดี๋ยวมาอวดใหม่

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2550

TH97 -- DreamHost promo code coupon for $97 discount

ย้ายโฮสติ้งแล้วครับ ด้วยว่าที่เดิมมีปัญหาและข้อจำกัดหลายๆ อย่าง กำลังจะหมดสัญญาปลายเดือนนี้แล้ว ตอนนี้ก็เลยหันมาใช้บริการของ DreamHost แทน

อันที่จริง โฮสติ้งที่ให้เนื้อที่เยอะๆ แบนด์วิดธ์เยอะๆ ไม่จำกัดโดเมน/ดาต้าเบส ราคาค่าเช่าถูก ก็มีหลายเจ้า (รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมีแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง) แต่ที่ตัดสินใจเลือกก็เพราะว่าที่นี่มี shell ให้ใช้ด้วย อันนี้เป็นเหตุผลหลักๆ เลย แล้วก็เป็น shell แบบไม่จำกัดคำสั่งด้วย เหมือนใช้ในเครื่องตัวเองเลย ที่ชอบก็เช่น มี rsync, ncftp, wget, crontab, mc, screen, unzip, ฯลฯ

ภาษา และเครื่องมือสำหรับทำเว็บก็มีครบดี ใช้ได้ทั้ง php 4/5, perl, cgi/fastcgi, ruby / ruby on rail, ... เอาเว็บสำเร็จรูปหลายๆ ตัวมาทดสอบแล้ว ก็รันได้ดี ลองเช็คดูด้วย phpinfo() มันบอกว่า memory unlimited ปัญหาก็เลยน้อย แถมแต่ละโดเมนกำหนดได้ด้วยว่าจะรันด้วย php รุ่นอะไร (4.x หรือ 5.x) สามารถสร้าง user เพื่อให้เป็นเจ้าของสิทธิ์ของ cgi ที่จะรันในแต่ละโดเมนได้ด้วย มีระบบการติดตั้งเว็บสำเร็จรูปแบบง่าย เช่น joomla, wordpress, gallery2 เป็นต้น ซึ่งสามารถอัพเกรดได้ง่ายๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีบริการ svn, webdav, jabber, streaming อ่อ หน้าแพนัล (panel) ยังใช้งานได้ง่ายอีกด้วย

เนื้อที่เริ่มต้น 192 GB เพิ่มอัตโนมัติสัปดาห์ละ 1 GB, Bandwidth 1.92 TB เพิ่มอัตโนมัติสัปดาห์ละ 16 GB ซึ่งที่ใช้ตอนนี้ก็ถือว่าเหลือกินเหลือใช้

ราคา ถ้าจ่ายล่วงหน้า 1 ปี ก็คิดเดือนละ $9.95 แต่ถ้าสองปีก็ $7.95 แน่นอนครับ ผมซื้อ 2 ปี เฉลี่ยปีละไม่ถึงสี่พัน ถ้ายังแพงไป ผมมี Promotion Code ของ DreamHost ให้ด้วย คือลูกค้าสามารถแนะนำลูกค้าใหม่ได้ โดยกำหนดเป็น promotion code ซึ่งจะกำหนดส่วนลด ที่ลูกค้าใหม่จะได้รับ ในวงเงินไม่เกิน $97.00 เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการเช่าครั้งแรก ซึ่งผมเตรียมไว้ให้ท่าน 2 code ได้แก่

  1. TH96

  2. TH97


สองอันนี้แตกต่างกันเล็กน้อยคือ อันแรกให้ส่วนลด $96.00 จะเหลือ $1.00 มาให้ผม ถือว่าเป็นเงินเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนค่าโฮสต์ของผมนะครับ ส่วนอีกอันจะได้รับส่วนลด $97.00 เต็มๆ ผมไม่ได้อะไร

ก็หวังว่า promo code นี้จะทำให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้นนะครับ

update: ข่าวดี ถ้าสมัครด้วย promo code นี้ ท่านจะได้รับเนื้อที่ 200 GB และ bandwidth 2.0 TB ไปเลยเต็มๆ

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550

ปรับแต่ง OLPC ภาษาไทย (image-build-236)

ปรับปรุงจากของเดิม ปรับแต่ง OLPC ภาษาไทย (image-build-193)

  1. เพิ่มโลแคลภาษาไทย (th_TH.utf8), ตั้ง timezone โดยต่างจากของเดิมคือเพิ่ม --no-archive ตอน localedef เพราะเมื่อติดตั้งบน nand flash แล้วไม่สามารถเพิ่มโลแคลไทยลงใน archive ได้

    localedef --no-archive -f UTF-8 -i th_TH th_TH.utf8
    echo "LANG=th_TH.utf8" > /etc/sysconfig/i18n
    rm /etc/localtime
    ln -s /usr/share/zoneinfo/Asia/Bangkok /etc/localtime
    echo "CLOCKMODE=GMT" > /etc/sysconfig/clock


  2. เพิ่มบรรทัดต่อไปนี้เข้าไปที่แฟ้ม /usr/lib/xulrunner-1.8.0.4/defaults/pref/xulrunner.js

    pref("font.minimum-size.th", 11);
    pref("font.default.th", "sans-serif");
    pref("intl.accept_languages", "th,en-us,en");
    pref("intl.charset.default","TIS-620");

    สิ่งที่แก้จากเดิมคือลดขนาดฟอนต์ไทยลง จาก 13 เหลือ 11

  3. ปรับคอนฟิกแป้นพิมพ์ในแฟ้ม /etc/X11/xorg.conf ดังนี้

    Option "XkbLayout" "us,th"
    Option "XkbVariant" "olpc2,olpc,tis"
    Option "XkbOptions" "grp:rctrl_toggle"

    สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือ เปลี่ยนการสลับแป้นพิมพ์เป็น right control ซึ่งจริงๆ บนแป้นของแล็ปท็อปไม่มี แต่เราจะ map ปุ่มสลับภาษาให้เป็นปุ่ม right ctrl แทน ซึ่งจะในข้อต่อไป

  4. แก้ไขแฟ้ม /usr/share/olpc/keycodes/olpc-evdev ดังนี้
    หาบรรทัด

    <RCTL> = 105;

    แก้เป็น

    alias <RCTL> = <AB11>;

    โดยทุกครั้งที่บูตเครื่อง แฟ้มนี้จะถูกคัดลอกไปทับแฟ้ม /usr/share/X11/xkb/keycodes/evdev คงเพราะยังต้องการใช้แพกเกจเดียวกับ Fedora แต่ต้องการปรับแก้เพียงบางส่วน
    ผลที่เกิดจากการแก้ไขตรงนี้คือ AB11 หมายถึงปุ่มสลับไทยอังกฤษที่อยู่ใต้แป้น enter ถูก alias จาก RCTL ซึ่งก็คือปุ่ม right ctrl ทำให้การกดแป้นนี้ มีผลเท่ากับกดแป้น right ctrl ซึ่งในที่นี้จะทำให้สลับแป้นไทย-อังกฤษได้
    ถ้ามีการอัพเดทแพกเกจแล้วสลับแป้นไทยอังกฤษไม่ได้ แสดงว่าแฟ้มที่เราแก้ไข ถูกอัพเดททับ ให้แก้ไขโดยแก้แฟ้มนี้ใหม่อีกครั้ง

  5. ปรับลดค่า DPI เพื่อให้ฟอนต์มีขนาดเล็กลง โดยจากการทดลอง คิดว่าค่านี้ น่าจะลงตัวที่สุด โดยแก้แฟ้ม /etc/X11/xorg.conf
    หาบรรทัด

    DisplaySize 152 114

    แก้เป็น

    DisplaySize 240 180



บล็อกนี้จบเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับภาษาไทยและการแสดงผลก่อน เดี๋ยวมาต่อตอนหน้าครับ
กว่าจะคอนฟิกเสร็จ และเขียนบล็อกเสร็จ เค้าก็ออก image 239 มาซะแล้ว แต่คิดว่าคงยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักหรอกนะ รอนิ่งๆ เดี๋ยวโหลดมาทดสอบอีกสักรอบ

วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2550

5 เรื่องของเราที่คนไม่ค่อยรู้

กลับมาจาก trip พึ่งรู้ตัว่าโดน tag มาจาก พี่เทพ, จิ๊ก และ Chawanan ชักร้อนก้น เอาซะหน่อยละกัน 5 เรื่องใช่มะ ยาวหน่อย จะอ่านแต่ตัวหนาก็ไม่ว่ากัน


  1. ได้พาสชั้นจากป.เด็กเล็ก มา ป.1 โดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ได้เริ่มเรียน ป.1 ตอน 5 ขวบ เรื่องของเรื่องคือตอน 4 ขวบปลายๆ พ่อให้ติดตามคุณป้า ไปโรงเรียนแถวบ้าน เพราะคุณป้าเป็นครูที่นั่น จะได้ฝึกการไปโรงเรียนให้คุ้นเคย ป้าก็เอาไปฝากไว้ห้อง ป.เด็กเล็ก (ชาวบ้านเรียกป.ขี้ไก่) เลยได้หัดเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก และนับเลขได้ จริงๆ ไปแค่ไม่กี่อาทิตย์ พอส่งมาเรียนจริงที่อีกโรงเรียน คือโรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ ดูชื่อก็รู้ว่าเป็นโรงเรียนคริสต์ ตอนแรกก็เข้าป.เด็กเล็กตามปกติแหละ แต่มีเพื่อนในห้องคนนึง ชื่อ มหาราช กัณฑโชติ ครูสังเกตเห็นว่าเค้ารู้ตัวอักษรแล้ว สอบถามผู้ปกครองพบว่าเคยเรียนป.เด็กเล็กมาก่อนจากโรงเรียนอื่น เลยให้พาสชั้นไปป.หนึ่งเลย ส่วนเราเองครูก็เห็นแววว่าเหมือนจะรู้แล้ว ถามพี่สาว ซึ่งเป็นลูกป้า เค้าก็บอกว่าเคยเรียนแล้ว ครูจึงคิดว่าคงเหมือนกับมหาราช เลยส่งไปเรียนป.หนึ่งเหมือนกัน ตอนนั้นก็งงๆ ว่าทำไมเราสองคนถูกส่งมาเรียนอีกห้อง พ่อแม่ต้องมาซื้อหนังสือให้ใหม่ เลยได้จบ ม. 6 ตอน 16 ปี โดยไม่ต้องสอบเทียบ เคยสอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนคอมพิวเตอร์ที่ จ.ขอนแก่น โดยที่ นศ.ฝึกงานอายุมากกว่าด้วยซ้ำ ชนิดที่ต้องให้ดูวันเดือนปีเกิดจากบัตรประชาชน จึงจะเชื่อ ก็บอกแล้ว อายุผมอ่อนกว่าหน้า :-P

  2. ต้น, หัวยาว, เปา, ต้นน์, โต้น, tony (mrtony), HAL9000, hanzo, mooyong คือชื่อเล่นที่เคยถูกเรียก ไม่ก็เรียกตัวเอง ต้น เป็นชื่อเล่นจริงๆ ที่พ่อแม่ตั้ง คงเพราะเป็นคนโต สังเกตว่าเห็นใครชื่อต้น ก็เดาได้ว่า คงเป็นลูกชายคนโต หัวยาว อันนี้ลุงเรียกของแกคนเดียว เปา ชื่อนี้เพื่อนเรียกตอนม.2 เพราะครูภาษาไทยบอกว่าอ้วนเหมือนเปาบุ้นจิ้น เลยเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักกันในช่วงมัธยม เรียกอีกอย่างว่าเป็นชื่อเล่นเล่นๆ (ไม่ใช่ชื่อเล่นจริงๆ) ต้นน์ อันนี้ใช้ตอนที่เล่น ICQ เพราะถ้าตั้งชื่อว่า "ต้น" จะถูก add เยอะมาก คุยไม่ไหว (แรกๆ ก็ปลื้ม คุยทีเป็นสิบคนพร้อมๆ กัน) สงสัยเป็นชื่อที่ฟังดูเป็นชายหนุ่มผู้อบอุ่น :-P โต้น อันนี้มีคนบอกว่าจริงๆ เราไม่ได้ชื่อต้นหรอก ชื่อโต้นต่างหาก มาจาก โอ้นโต้น เราก็เกือบเชื่อ เพราะคนอิสานส่วนใหญ่ออกเสียงชื่อเราเป็น "โต้น" จริงๆ tony เอาไว้ใช้เวลาให้ชาวต่างชาติเรียกชื่อ จะเรียกได้ง่ายกว่า ส่วน mrtony ใช้ใน pangya เพราะชื่ออื่นคนสมัครไปหมดแล้ว HAL9000 ก็มาจากเรื่อง 2001: Space Odyssey เป็นชื่อของคอมพิวเตอร์เจ้าอารมณ์ในเรื่อง ตอนนั้นคิดว่ามันเท่ห์ดี แต่หลังๆ รู้สึกมันเกร่อๆ ยังไงไม่รู้ hanzo ชื่อของซามูไร ฮัทโตริ ฮันโซ (Hattori Hanzō/服部半蔵) ที่ถูกอ้างถึงในภาพยนต์ Kill Bill ทั้งสองภาค mooyong ชื่อหมาที่บ้านตัวโปรดที่เลี้ยงไว้ตอนนี้

  3. เห็นคอมพิวเตอร์ตัวจริง ตอน ม. 1 พึ่งรู้ว่าหน้าตามันเป็นแบบนี้เอง คือในหนังน่ะ มันจะเป็นเครื่องใหญ่ๆ ไฟกระพริบเยอะๆ มีเทปหมุนติ๊วๆ แต่ของจริงตัวเล็กกว่าเยอะ มีแค่เครื่อง 4 เหลี่ยม กับจอ และแป้นพิมพ์ โปรแกรมแรกที่เห็นคือ Word Processor เค้าโชว์การแก้ไขและย้ายข้อความให้ดู แล้วพิมพ์ออกมา รู้สึกตื่นเต้นมาก คิดว่ามันเจ๋งกว่าเครื่องพิมพ์ดีดมากๆ มีอีกเครื่องเค้าโชว์โปรแกรมกราฟฟิกส์ แล้วพิมพ์รูปมิคกี้เมาส์ให้เราแผ่นนึงด้วย ยังเก็บไว้จนเดี๋ยวนี้ (เดี๋ยวต้องไปค้นดูก่อนว่ายังอยู่ดีไหม) เห็นเกมคอมพิวเตอร์ครั้งแรกก็วันเดียวกัน วันนั้นอยากเล่นมาก แต่ไม่ได้เล่น ยังจำหน้าจอเกมได้ติดตา และราว 10 กว่าปีต่อมาก็ค้นหา จนรู้ว่ามันชื่อ Load Runner ดาวน์โหลดมาเล่น แต่ไม่รู้สึกสนุกเหมือนตอนยืนดูเค้าเล่นตอนเป็นเด็ก

  4. เริ่มศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ตอน ม.2 โดยเพื่อนร่วมชั้นชื่อ อิสระ ธานี เป็นผู้แนะนำ วงจรอิเล็กทรอนิกส์วงจรแรกที่เห็น คือวงจรไฟกระพริบด้วย LED แบบที่ใช้ทรานซิสเตอร์ 2 ตัว ทำเป็นวงจรที่เรียกว่า อะสเตเบิ้ลมัลติไวเบรเตอร์ (ตำราบางเล่มเรียกเป็นไทยๆ ว่า วงจรเอนกระรัวแบบไม่สเถียร) จากนั้นก็หาหนังสืออ่าน ส่วนใหญ่มาจากวารสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ในห้องสมุดประชาชน เล่มเก่าๆ เรียกว่ามีกี่เล่มเอามาอ่านหมด จดทุกวงจรที่สนใจ อ่านอุปกรณ์ได้ อ่านค่าสีรีซิสเตอร์เป็น แต่แทบไม่เคยต่อวงจรเอง เพราะอยู่บ้านนอก หาอุปกรณ์ยากมาก อ่อ เคยต่อวงจรหนึ่ง คือ "ไฟกระตุก" เพราะมันทำง่าย หาอุปกรณ์ได้เกือบทุกตัวจากร้านวิทยุแถวบ้าน ยกเว้นหัวต่อถ่าน 9 v. เลยใช้ถ่าน AA 2 ก้อน รัดสายไฟด้วยสก็อตเทปเอา คิดว่าคงให้ไฟเบากว่าเพราะ 3 v. เอง มารู้ทีหลังว่า ถ่าน 9 v. ให้แอมป์ต่ำมากๆ ทำให้กระแสไหลได้น้อย แม้ไฟจะมีศักย์สูง ส่วน AA แม้โวลท์ต่ำ แต่กลับให้แอมป์สูงกว่ามาก เลยเจ็บกว่า ทำเสร็จเอาไปแกล้งเพื่อนได้วันสองวันก็เลิก ผลจากการติดตามเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ต้องซื้อวารสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์เป็นประจำ แต่มีปัญหาว่าหาซื้อยากเลยสมัครสมาชิกซะเลย สมัยนั้นฉบับละ 9 บาทเอง และเมื่อเสียเงินซื้อแล้วก็เลยต้องอ่านให้คุ้ม ทำให้ได้ความรู้วิทยาศาสตร์อย่างอื่นๆ ไปด้วย

  5. เริ่มเขียนโปรแกรมบนกระดาษตอน ม. 3 ทั้งๆ ที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ซักเครื่องให้ใช้ลอง เรื่องของเรื่องคือ ในชัยพฤกษ์ฯ มีคอลัมน์ใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่อง MSX ซึ่งจะสอนวิธีการเขียนโปรแกรมภาษาเบสิก แรกๆ ก็ไม่อ่านเลย เพราะไม่อยู่ในความสนใจ หลังๆ พอเริ่มไม่มีอะไรอ่านเวลาเหงาๆ ว่างๆ ก็เลยเอามาอ่านเล่น เลยรู้สึกว่าไม่ยากนี่นา คำสั่งแรกๆ ที่มีเป็นตัวอย่าง ก็ประมาณ REM, PRINT, GOTO, FOR...NEXT, END ก็รู้สึกว่าทำอะไรได้เยอะดี โดยไม่ต้องมาประกอบวงจรให้เมื่อย ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มศึกษาอิเล็กทรอนิกส์มาไกลถึงเรื่องวงจรดิจิทัลแล้ว เลยเอามาประสานกันได้ไม่ยาก การเขียนโปรแกรมบนกระดาษโดยไม่มีคอมพิวเตอร์จริงๆ ให้ลอง ทำให้ต้องทำตัวเป็นอินเตอร์พลีตเทอร์เอง และต้องเขียนให้แม่น เพราะมันไม่สามารถแก้โปรแกรมได้ง่ายๆ เหมือนบนเอดิเตอร์ และไม่สามารถลองสั่งรัน แล้วค่อยดีบักทีหลังได้อีกต่างหาก เลยต้องพยายามเขียนให้รอบคอบ ได้เขียนโปรแกรมบนเครื่องจริงๆ ตอน ม. 4 ได้มาดูงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพฯ ได้มาเห็นเครื่อง MSX ของจริง ยี่ห้อ casio ที่เซ็ลทรัลลาดพร้าว คิดอะไรไม่ออก เลยลองเขียนโปรแกรมให้แสดงอักขระแอสกี้ ตั้งแต่ 0-255 ออกมาบนจอ เป็นการสัมผัสแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นปุ่มยางอันเล็กๆ ก็ตามเหอะ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ รามือจากเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ไป
    ดังนั้นภาษาเบสิกจึงเป็นภาษาแรกที่เขียนได้ ถัดมาคือภาษาปาสคาล แล้วก็ dBase/Foxplus/Clipper แล้วจึงเป็น C/C++



จบละ ตามธรรมเนียม tag ต่อละนะ: อ.นพ, อ.ต้าร์, ป.ปลา, iTeau และ พี่ฮุ้ย

วันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2550

เดสก์ท็อปของฉัน

Kamthorn's Desktopอันเนื่องมาจาก Blognone Desktop Showcase 2007 เลยขอประเดิมบล็อกแรกของปี 2007 ด้วยภาพเดสก์ท็อปที่ใช้อยู่ทุกวันบน Ubuntu Edgy (6.10) ละกัน



ระบบปฏิบัติการ: Ubuntu Edgy (6.10)
ธีม: default
ฟอนต์: Dejavu + Loma (ซึ่งปรับแต่งด้วยวิธีการใน การปรับแต่งฟอนต์ไทยบน Ubuntu และ ปรับแต่งฟอนต์ไทยบน Ubuntu Part II

ดู SS คนอื่นแล้วอายๆ ชอบกล ของเราไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย แต่ก็โอเคแล้วละ ชอบสีน้ำตาลแบบนี้อยู่แล้ว (ใครจะว่าไม่สวยก็ตามเหอะ)